วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ลำดับเหตุการณ์ 7-22 ธันวาคม 2550



7 ธันวาคม พ.ศ.2550 ครอบครัวของคุณประสิทธิ์ สมอินทร์ หรือ "อู๊ด" ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนชาวไทยในไต้หวันว่า อู๊ดซึ่งทำงานอยู่ที่ไทเปนั้นป่วยหนัก โดยมีอาการอ่อนเพลีย เหม่อลอย ไม่ยอมพูดจากับใคร ไม่กินข้าว ไม่ดื่มน้ำ เพื่อนๆ ต้องช่วยกันดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำ โดยคุณเทิดพงษ์ เจ้าหน้าที่บริษัท CTCI ซึ่งทำหน้าที่ล่าม (หรือ camp boss - หมายเลขติดต่อ 886 - 920808245) ได้พาไปหาหมอ 2 ครั้ง แต่อาการยังไม่ดีนัก

หลังจากทราบข่าว ทางครอบครัวได้รีบแจ้งให้ล่ามช่วยดำเนินการประสานกับนายจ้าง เพื่อให้อู๊ดลาป่วยและกลับมารักษาที่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะกลับได้ประมาณวันที่ 11 ธันวาคม 2550



10 ธันวาคม 2550
ตอนเช้า อู๊ดได้เดินเหม่อลอย (เพราะอาการป่วย) ออกจากแคมป์ไป แต่เพื่อนๆ ที่กำลังจะไปทำงานเห็นเข้าพอดีและวิ่งไปดึงตัวกลับมา

ก่อนไปทำงาน "หลี" เพื่อนคนงานที่รักอู๊ดเหมือนน้องชาย ได้ฝากอู๊ดไว้กับล่ามเทิดพงษ์ พร้อมทั้งกำชับว่า
"ดูให้ดีๆนะคนป่วยเดินได้ไกลแล้วจะออกจากแคมป์แล้ว ผมฝากดูน้องผมหน่อย"

ตอนเย็น อู๊ดได้เดินเหม่อลอยออกจากบ้านพักคนงานไปอีกครั้ง โดยที่คุณเทิดพงษ์ซึ่งพบเห็นเหตุการณ์ก็ไม่ได้เฉลียวใจ และคิดว่าอู๊ดอาจจะออกไปเดินเล่นบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น

อู๊ดหายตัวไปนับแต่นั้น

สันนิษฐานว่า อู๊ดซึ่งป่วยจนขาดสติรับรู้อาจจะเดินพลัดหลงจนหายตัวไป

คุณเทิดพงษ์เล่าว่า หลังจากนั้นได้ให้คน 2 คนช่วยกันออกตาม แต่ก็ไม่พบตัวอู๊ด

เมื่อเพื่อนๆคนไทยเลิกงานกลับมาก็ได้ช่วยกันออกตามหาอยู้หลายชั่วโมงแต่ยังไม่พบ

คุณเทิดพงษ์เล่าว่าหลังจากนั้นเขาได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจไต้หวัน เพื่อให้ช่วยติดตามหาตัวอู๊ดต่อไป (แต่ต่อมา เมื่อคุณมยุรีติดต่อขอให้คุณเทิดพงษ์นำใบแจ้งความไปเดินเรื่องในการติดตามน้องชาย คุณเทิดพงษ์กลับตอบว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ โดยอ้างว่ากฎหมายของไต้หวันไม่มีการเขียนใบแจ้งความให้ในกรณีของคนต่างด้าว และเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น)



11 ธันวาคม 2550 (1 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรี เก่งเกตุ พี่สาวของอู๊ดซึ่งอยู่ทางเมืองไทย ได้แจ้งไปที่ “สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน” ซึ่งได้รับเรื่องและ Fax ไปยัง "สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน" ในกรุงไทเป โดยผู้ที่ประสานงานเรื่องนี้คือคุณสมบูรณ์ ได้ดำเนินการโทรศัพท์ไปสอบถามกับล่าม และได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศข่าวทางรายการวิทยุกระจายเสียงภาคภาษาไทยเพื่อตามหาตัวอู๊ดแล้ว



14 ธันวาคม 2550 (4 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้โทรศัพท์พูดคุยปรึกษากับคุณสุพจน์ หัวหน้าสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งได้พยายามปลอบใจว่าอย่าคิดในแง่ร้าย อู๊ดอาจจะมีปัญหาส่วนตัวก็ได้ เช่น ติดการพนันติดเหล้า ติดยาเสพติด หรือมีเรื่องชู้สาว จึงหลบหนีไป

แต่คุณมยุรีก็ยืนยันว่า ได้สอบถามจากเพื่อนๆ คนงานของอู๊ดแล้ว ซึ่งต่างก็รับรองว่า อู๊ดไม่มีปัญหาดังกล่าวแน่นอน อีกทั้งตัวคุณมยุรีเองก็เชื่อว่าอู๊ดไม่มีเจตนาหลบหนีแน่นอน เนื่องจากทราบนิสัยของน้องชายตัวเองดี ที่สำคัญคืออู๊ดพอใจในงานที่ทำอยู่ จึงไม่น่าจะหลบหนีงานไป ส่วนอาการป่วยนั้นเท่าที่ทราบจากเพื่อนๆ คนงานของอู๊ดนั้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และดูผิดปกติจนน่าสงสัย หัวหน้าสำนักงานฯ จึงให้คุณมยุรีไปแจ้งรายละเอียดของอู๊ดกับผู้จัดรายการวิทยุกระจายเสียงอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้น คุณมยุรียังได้โทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาจาก "ศูนย์คุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน กรมการกงสุล" เมื่อพูดคุยกับพนักงานที่รับผิดชอบเขตประเทศไต้หวัน คุณมยุรีได้คำตอบว่าถ้าไปยื่นที่กรมแรงงานแล้ว ไม่จำเป็นต้องมายื่นเรื่องซ้ำซ้อนอีก เพราะสองหน่วยงานประสานกันอยู่แล้ว และควรจะใจเย็น เพราะได้แจ้งความกับทางตำรวจแล้ว รอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันดำเนินการจะดีที่สุด



15 ธันวาคม 2550 (5 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้แจ้งเรื่องร้องทุกข์ผ่านทางอินเตอร์เน็ตไปยังศูนย์คุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน กรมการกงสุล แล้ว และได้รหัสติดตามเรื่องคือ 101/2550



17 ธันวาคม 2550 (7 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้โทรศัพท์ไปถามความคืบหน้า ได้รับคำตอบว่า ส่งเรื่องไปสำนักงานในไต้หวันแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

คุณมยุรีได้ส่ง E-mail และ Fax ไปยังสำนักงานตำรวจไต้หวัน

คุณมยุรีพร้อมด้วยคุณพ่อและคุณแม่ได้ไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากพ.ต.ท.อนุชา สุธยดิลก รองผู้กำกับการตำรวจสากล กองการต่างประเทศ ซึ่งพ.ต.ท.อนุชาได้กล่าวว่า ที่ไต้หวันไม่มีสำนักงานตำรวจสากลที่ท่านสามารถประสานงานได้ แต่ก็ได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งไปยังทางตำรวจไต้หวันให้โดยทันทีแล้ว



18 ธันวาคม 2550 (8 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้โทรศัพท์ปรึกษาไปยัง "ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์" มูลนิธิกระจกเงา เจ้าหน้าที่ศูนย์ได้ขอให้ส่งรายละเอียดไปให้ คุณมยุรีจึงได้ส่งไปทาง E-mail



19 ธันวาคม 2550 (9 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้รับการติดต่อจาก คุณเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ในการขอข้อมูลเพิ่มเติม และได้ขอเวลาหาข้อมูลว่าควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะประสานงานไปตามหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ



20 ธันวาคม 2550 (10 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้โทรศัพท์ถามความคืบหน้ากับคุณสมบูรณ์ "สำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน" ซึ่งทำให้ทราบว่า ทางสำนักงานตำรวจไต้หวันได้รับจดหมายร้องเรียนที่คุณมยุรีส่งไปจากประเทศไทย และได้สอบถามมายังคุณสมบูรณ์ ซึ่งได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการป่วยของอู๊ดไป และทางตำรวจรับว่าจะสั่งการไปยังตำรวจท้องที่อีกครั้ง

ช่วงเย็นคุณเอกลักษณ์ ได้โทรศัพท์มาหาคุณมยุรี และอธิบายว่าจากการสอบถามผู้มีประสบการณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทราบว่า key man ที่สำคัญในเรื่องนี้คือ คุณสุพจน์ คงสุพัทธ์ หัวหน้าศูนย์แรงงานไทยในไทเป ซึ่งหากคุณสุพจน์จริงจังกับกรณีนี้และติดตามให้อย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว

คุณเอกลักษณ์จึงแนะนำให้คุณมยุรีโทรศัพท์ถึงล่าม คือคุณเทิดพงษ์ เพื่อขอใบแจ้งความจากสถานีตำรวจเพื่อนำไปพบคุณสุพจน์ โดยให้คุณเทิดพงษ์ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนญาติ เข้าไปขอความช่วยเหลือตัวแทนภาครัฐของไทย คือคุณสุพจน์



21 ธันวาคม 2550 (11 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
คุณมยุรีได้โทรศัพท์ถึงคุณเทิดพงษ์ แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เพราะกฎหมายของไต้หวันไม่มีการเขียนใบแจ้งความให้ในกรณีของคนต่างด้าว และเพียงแค่ลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น

คุณมยุรีจึงโทรศัพท์แจ้งเหตุการณ์ต่อคุณสัญญา(สามีของคุณมยุรี) ให้ช่วยประสานไปยังคุณเอกลักษณ์ (เนื่องจากคุณมยุรีซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ จำเป็นต้องคุมสอบ) ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป เพราะล่ามบอกว่าไม่มีใบแจ้งความ

เวลาประมาณเที่ยง คุณสัญญาโทรศัพท์กลับมาบอกคุณมยุรีว่า คุณเอกลักษณ์แนะนำให้โทรศัพท์ไปคุยกับคุณสุพจน์โดยตรง เพื่อสอบถามดูว่าคุณสุพจน์ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง

มยุรีได้โทรศัพท์ไปหาคุณเอกลักษณ์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับล่ามเทิดพงษ์เพิ่มเติมว่า หลี - เพื่อนคนไทยของอู๊ดในแคมป์ได้เล่าว่า ล่ามเทิดพงษ์ห้ามคนไทยที่รู้เห็นเหตุการณ์หายตัวไปของอู๊ดว่า "อย่าพูดมากไป"

หลีเล่าด้วยว่า เขาเสียใจมากต่อเหตุการณ์นี้ เนื่องจากก่อนที่อู๊ดจะหายไปในเย็นวันที่ 10ธันวาคม อู๊ดเคยเดินออกจากแคมป์ไปครั้งหนึ่งแล้วในตอนเช้า แต่เพื่อนๆ ที่กำลังจะไปทำงานเห็นเข้าพอดีและวิ่งไปดึงตัวกลับมา ก่อนไปทำงานแล้วหลีจึงได้ฝากอู๊ดซึ่งเขารักเหมือนน้องชายไว้กับล่ามเทิดพงษ์ พร้อมทั้งกำชับว่า "ดูให้ดีๆนะคนป่วยเดินได้ไกลแล้วจะออกจากแคมป์แล้ว ผมฝากดูน้องผมหน่อย" เมื่อหลีมาตอนเย็นและทราบว่าน้องหายไป และได้ช่วยกันหาอยู่นานแต่ก็ไม่พบจึงเสียใจมาก หลีดื่มเหล้าจนเมาและต่อว่าล่ามเทิดพงษ์อย่างรุนแรงจนเกือบจะชกต่อยกัน หลังจากวันนั้นหลีถูกหัวหน้างานเรียกพบและตักเตือนว่า ถ้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก หลีจะถูกส่งกลับประเทศไทย

หลังจากได้ฟังเรื่องราว คุณเอกลักษณ์สรุปว่า "แสดงว่ากลไกล่ามมีปัญหา" และขอเวลาปรึกษากันก่อนแล้วจะโทรศัพท์แจ้งอีกครั้ง

เวลาประมาณ 15.30 น. คุณสัญญาได้โทรไปหาคุณสุพจน์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
เวลา16.30 น.คุณเอกลักษณ์โทรศพท์มาหาคุณมยุรี ขอให้ส่งสำเนาบัตรประชาชนไปให้ทางมูลนิธิ เพื่อส่งต่อไปยังเอกอัคราชทูตไทย ฝ่ายแรงงาน ประจำประเทศไต้หวัน และขอให้คุณมยุรีช่วยตรวจสอบร่างหนังสือที่ทางมูลนิธิจะประสานไปยังเอกอัคราชทูตไทย ฝ่ายแรงงาน ประจำประเทศไต้หวัน

คุณมยุรีและคุณสัญญาจึงได้ช่วยกันตรวจสอบและแก้ไขบางข้อมูลในร่างหนังสือ ก่อนจะส่งกลับไปให้คุณเอกลักษณ์



22 ธันวาคม 2550 (12 วัน หลังจากอู๊ดหายตัวไป)
(ช่วงค่ำ) มีการประชุมกันระหว่างบริษัทเอเย่นต์ในไต้หวันกับคนงานไทย ที่แคมป์คนไทย คนที่ส่งข่าวในเรื่องนี้เป็นคนงานไทยชื่อ "หลี" โดยก่อนที่จะมีการประชุมหลีได้โทรศัพท์แจ้งมาว่า เขาจะสอบถามเกี่ยวกับการรับผิดชอบต่อการหายตัวไปประสิทธิ์ในการประชุมครั้งนี้ รวมทั้งเรื่องที่ทางครอบครัวได้ฝากถามว่าถ้ายังหาตัวประสิทธิ์ไม่เจอ ทางบริษัทจะจ้างนักสืบมาช่วยตามหาให้ได้หรือไม่

หลีเล่าว่า ในช่วงแรกของการประชุมล่ามไม่เปิดโอกาสให้พูดเรื่องนี้ โดยบอกว่าคุยเรื่องอื่นก่อน เช่น เรื่องขอเพิ่มค่าอาหารจาก 2,800 เป็น 3,500 ซึ่งฝ่ายแรงงานไม่เห็นด้วย ส่วนในความคืบหน้าเรื่องประสิทธิ์นั้น เขา(ล่าม)จะคุยเป็นการส่วนตัวหรือกลุ่มย่อย

จากการคุยกลุ่มย่อย คำตอบจากล่ามในเรื่องประสิทธิ์คือ ล่ามเทิดพงษ์ได้ทำทุกทางแล้ว คือส่งเอกสารแจ้งตำรวจ และแจ้งไปยังมูลนิธิหลายๆ ที่ เมื่อถูกคนไทยถามเรื่องจ้างนักสืบ ก็บอกว่า จะใช้เงินที่ไหนมาจ้างเป็นหมื่นสองหมื่น สรุปคือจะไม่จ้างนั่นเอง ทั้งที่เคยรับปากว่าจะคุยเรื่องนี้กับทางบริษัทนายจ้างให้